สาเหตุของโรคกระดูกพรุน
ถึงปัจจุบันการแพทย์จะพัฒนาไปมากมายอย่างไร แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยออกมาเกี่ยวกับสาเหตุที่แน่ชัดของโรคกระดูกพรุน แต่มีงานวิจัยที่สามารถสรุปถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่สามารถนำไปสู่โรคกระดูกพรุนได้ อย่างเช่น อายุที่มากขึ้น โดยธรรมชาติร่างกายจะมีความเสื่อมถอยไปตามกาลเวลายิ่งอายุมากขึ้นการสะสมแคลเซียมเข้าในกระดูกเพื่อให้กระดูกหนาขึ้นจะยิ่งน้อยลง โดยพบว่าอายุที่จะมีความหนาแน่นของมวลกระดูกสูงสุดจะอยู่ที่อายุประมาณ 30 ปี และ จะคงที่อยู่ระหว่าง 30-40 ปี และมวลกระดูกจะลดลงเรื่อยๆ ทุกปีหลังจากนั้นจนกระทั่งวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง จะมีการลดลงของมวลกระดูก อย่างรวดเร็ว และ เมื่ออายุมากกว่า 65ปี มวลกระดูกจะลดต่ำลงจนถึงจุดเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก
1. พันธุกรรม หรือ กรรมพันธุ์
คนไทยมีโอกาสเสี่ยงโรคกระดูกพรุนสูง เพราะจากงานวิจัยพบว่าคนเชื้อสายคอเคเชี่ยนและเอเชี่ยน (ผิวขาวและผิวเหลือง) มีอัตราเสี่ยงของกระดูกพรุนสูง และจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีประวัติกระดูกหักของผู้สูงอายุ ในครอบครัว หรือผู้ที่มีรูปร่างผอมบางอยู่แล้ว
2. ภาวะโภชนาการและการดำเนินชีวิต
ภาวะทุพโภชนาการ คือ ภาวการณ์ขาดอาหาร การได้รับอาหารในแต่ละวันไม่เพียงพอ หรือน้ำหนักตัวน้อย หรือการรับประทานแคลเซียมในปริมาณต่ำ และภาวะการดูดซึมแคลเซียมไม่ดี นอกจากนี้ผู้ที่ชอบการดื่มสุราและสูบบุหรี่ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป อีกทั้งผู้ที่อยู่เฉยๆ นั่งๆ นอนๆ หรือขาดการออกกำลังกาย ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้
3. ยาและโรคประจำตัว
ใครจะไปทราบว่าจริงๆ แล้ว ยาก็มีผลต่อกระดูก ยาที่มีผลต่อกระดูกพรุนได้แก่ ยาที่มีสารสเตียรอยด์ ยาเกี่ยวกับโรคต่อมไธรอยด์ โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้และรับประทานยาอยู่เสมอก็มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป