คลังเก็บรายเดือน: สิงหาคม 2019

แก้ปัญหาการหลับยากด้วย 7 เคล็ดลับ

การนอนสำคัญต่อสุขภาพที่สุด แต่เพราะชีวิตอันแสนวุ่นวายจึงทำให้การนอนกลายเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน อาการดังกล่าวยังมีทางออก เพียงลองปรับพฤติกรรมกันดูสักนิด แบบไม่ต้องพึ่งยานอนหลับ ด้วย 7 เคล็ดลับง่าย ๆ ต่อไปนี้

1. สร้างบรรยากาศห้องนอนใหม่
ห้องนอนที่ดีควรจะเงียบไม่มีเสียงรบกวน อุณหภูมิห้องต้องเย็นพอดีและอย่าใช้แสงสว่างจ้าจากหลอดไฟยามดึก ส่วนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาดสำหรับคนนอนหลับยาก เพราะแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายจะกดการหลั่งเมลาโทนินออกจากต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งการนอน ชะลอวัย และลดความเครียด มีรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Pineal Research พบว่า แสงสีฟ้าจะทำให้ระดับเมลาโทนินลดลงไปอยู่ระดับเดียวกับช่วงกลางวัน ซึ่งจะทำให้ตาสว่างและนอนหลับยาก

2. ผ่อนคลายตัวเอง
ก่อนนอนสัก 1 – 2 ชั่วโมงลองทำกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย อย่างการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อโดยหายใจเข้ายาว ๆ ลึก ๆ และค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกอย่างช้า ๆ พยายามให้สติกำหนดอยู่กับลมหายใจก็จะได้ผลที่ดีขึ้น และเมื่อจะเอนตัวลงให้เลิกการคิดเรื่อยเปื่อย คิดถึงปัญหา หรือถ้าตัวเองรู้ตัวว่า เริ่มคิดอีกแล้วให้ดึงสติกลับมาและทำใจให้สบาย บอกกับตัวเองว่านื่คือเวลานอน เวลาพักผ่อน ปัญหาทุกอย่างควรสะสางต่อพรุ่งนี้ รวมถึงให้หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้สมองไม่ผ่อนคลาย ได้แก่ ทีวี สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต

3. กินอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง
ลองกินอาหารแมกนีเซียมสูงอย่าง ถั่ว เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ อะโวคาโด กล้วย โยเกิร์ต มันฝรั่ง ลูกเกด ผักโขม นมถั่วเหลือง เต้าหู้และปลาทูน่า เพราะถ้าร่างกายขาดแมกนีเซียมจะส่งผลต่อระบบประสาทสมองที่ช่วยในการนอนหลับ และควรงดอาหารที่สารกาเฟอีนสูง เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม จะทำให้ระบบประสาทตื่นตัวและนอนไม่หลับ

4. แช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนนอน
เป็นวิธีธรรมชาติและเสริมสุขภาพที่ดี เพียงแช่เท้าในน้ำที่อุณหภูมิประมาณ 40 – 50 องศาเซลเซียส แล้วใช้ฝ่ามือถูนวดบริเวณเท้าไปด้วยเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดจะช่วยคลายความอ่อนล้าได้ดี ฉะนั้นการแช่เท้าด้วยน้ำร้อนจะดึงเลือดจากข้างบนมาสู่ข้างล่าง ลดภาวะตึงเครียดของสมอง ทำให้หลับสบาย และไม่ค่อยฝัน

5. กลิ่นลาเวนเดอร์ช่วยบำบัด
กลิ่นหอมจากสมุนไพรธรรมชาติที่สกัดออกมาเป็นน้ำมันหอมระเหยหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “อโรมาเธอราปี” ช่วยให้ความรู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย ลดปฏิกิริยาทางกายที่มีต่อความเครียด น้ำมันหอมระเหยมีหลายชนิดให้เลือกใช้ตามความต้องการ แต่ถ้าเป็นใครมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ แนะนำให้ใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ ซึ่งช่วยให้นอนหลับง่าย ปรับอารมณ์ให้เกิดความสมดุลและจิตใจสงบ

6. ปรับอุณหภูมิและเครื่องฟอกอากาศ
เพื่อให้การนอนหลับมีความสบายมากขึ้นควรปรับอุณหภูมิห้องให้อยู่ระหว่าง 17 – 25 องศาเซลเซียส อีกทั้งการใช้เครื่องฟอกอากาศในห้องนอนเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้สมดุลและยังช่วยกำจัดสารก่อภูมิแพ้ที่มีอนุภาคเล็ก เช่น ฝุ่น ขนสัตว์ สปอร์ของเชื้อรา กลิ่นสเปรย์ปรับอากาศ เป็นอีกวิธีที่จะทำให้นอนหลับลึกได้ต่อเนื่อง

7. นอนให้เป็นเวลา
ลองจัดตารางการนอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกคืนจนเป็นกิจวัตร ถ้าทำติดต่อกันภายใน 1 อาทิตย์ ร่างกายก็จะปรับตัวและคุ้นเคยจนทำให้หลับได้ตามเวลานั้น ๆ หรือมีบางกรณีที่นอนแล้วยังไม่หลับนานถึง 30 นาที อย่าเพิ่งฝืนนอนต่อ อย่าโกรธหรือหงุดหงิด และอย่าดูนาฬิกาบ่อย ๆ เพราะจะเป็นการกดดันตัวเองว่า ทำไมยังไม่หลับสักทีและจะทำให้ไม่หลับจริง ๆ ในที่สุด

ต้อกระจก โรคน่ารู้ น่าระวัง

ทำความรู้จักโรคต้อกระจก
“ต้อกระจก (Cataract)” เป็นภาวะที่เลนส์ภายในลูกตามีความขุ่นขาว จึงทำให้แสงที่จะผ่านเข้าไปในดวงตาไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ทำให้เกิดอาการตามัว มองเห็นภาพเบลอ สีเพี้ยน และมองเห็นคล้ายมีหมอกมาบังตลอดเวลา

สาเหตุของการเกิดต้อกระจก
ต้อกระจกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากความเสื่อมของเลนส์ตาตามอายุ แต่ก็มีอีกบางส่วนที่เป็นเป็นต้อกระจกด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น

  • ต้อกระจกแต่กำเนิด
  • ต้อกระจกที่เกิดจากกรรมพันธุ์ที่ไม่ทราบสาเหตุ
  • การกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง หรือมีสิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าไปในดวงตา
  • การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต
  • การสูบบุหรี่
  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
  • มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

อาการของต้อกระจก
ผู้ที่เป็นโรคนี้จะเริ่มมีอาการ ตาพร่ามัวลงเรื่อยๆ รู้สึกเหมือนมีหมอกบัง มองเห็นภาพซ้อนและมองเห็นแสงกระจายขณะขับรถตอนกลางคืน ในบางรายอาจมีตาพร่ามัวมากในที่ที่มีแสงสว่าง สู้แสงไม่ได้แต่กลับมองชัดในที่มืด ในรายที่เป็นต้อกระจกเล็กน้อย อาจมีสายตาเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ และเมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น การเปลี่ยนแว่นสายตาก็จะไม่ทำให้การมองเห็นดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของต้อกระจก
เมื่อต้อกระจกสุกและไม่ได้รับการผ่าตัด อาจทำให้เกิดต้อหิน ตามมาได้จากเลนส์บวม หรือเลนส์โปรตีนรั่วไปอุดตันทางระบายน้ำในลูกตา และอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

การรักษาต้อกระจก

  • ระยะเริ่มต้น : ในระยะแรกของการเป็นต้อกระจก การเปลี่ยนแว่นสายตา สามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้
  • ระยะยาว : เมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น การมองเห็นแย่ลงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ ก็เป็นข้อบ่งชี้ให้แพทย์รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบัน คือ การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) และใส่เลนส์เทียม

การดูแลตนเองหลังผ่าต้อกระจก

  1. หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยควรนอนพักให้มากที่สุด
  2. ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก การยกของหนักหรือกระเทือนมาก การออกกำลังกายอย่างหนัก รวมถึงการไอหรือจามแรงๆ
  3. ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและใช้ยาต่างๆ ให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง
  4. เช็ดหน้าโดยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดบิดให้แห้งแทนการล้างด้วยน้ำ
  5. ห้ามขยี้ตาข้างที่ทำการผ่าตัดเด็ดขาด ผู้ป่วยควรใช้ที่ครอบตาพลาสติกปิดตาเอาไว้
  6. สวมแว่นตากันแดดทุกครั้งเมื่อออกไปในที่แสงจ้า
  7. ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง จนกว่าแผลจะหายดีและปลอดภัยแล้ว แต่ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ผลการรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสายตาให้กลับมามองเห็นได้เหมือนคนปกติทั่วไป และตาข้างที่เคยผ่าตัดแล้วจะไม่กลับมาเป็นต้อกระจกซ้ำอีก โดยภาพที่ได้จากการฝังเลนส์แก้วตาเทียมจะมีความใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด ผู้ป่วยจึงปรับตัวได้ง่าย

วิธีป้องกันการเกิดต้อกระจก

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์
  • ระวังอย่าให้ดวงตาถูกกระทบกระแทก ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่อดวงตากรณีทำงาน เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงาน
  • ควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต
  • พักสายตาเป็นระยะหากต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จัด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  • การใช้ยาหยอดตาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
  • ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเป็นประจำทุกปี